วันศุกร์ที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ลักษณะสำคัญของการเรียนรู้

ลักษณะสำคัญของการเรียนรู้
                1 การเรียนรู้ เป็นกระบวนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม พฤติกรรมก่อนการเรียนรู้ และภายหลังการเรียนรู้จะแตกต่างกัน บลูม (Bloom) ได้อธิบายพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปเนื่องจากการเรียนรู้ มีลักษณะ 3 ประการดังนี้
                1.การเปลี่ยนแปลงด้านพุทธพิสัย (Connitive Domain) ซึ่งมีลักษณะการเปลี่ยนแปลงด้านความรู้ความเข้าใจ และความคิดที่เกี่ยวข้องกับความสามารถทางสติปัญญา เช่น ความจำ ความเข้าใจ ความคิด การเลือกวิธีการแก้ปัญหา การเชื่อมโยงความสัมพันธ์ การคิดรูปแบบ การตัดสินค่าของสิ่งต่าง ๆ ทั้งหมด เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นภายในสมอง บลูมและคณะได้ศึกษาวิจัยการเรียนรู้ด้านความรู้ ความคิดของมนุษย์ และพบว่าโครงสร้างของพุทธิพิสัยประกอบด้วยความสามารถทางสติปัญญาจากระดับง่ายสู่สิ่งที่ซับซ้อน และจากรูปธรรมไปสู่นามธรรม สามารถจำแนกขั้นตอนการเรียนรู้ได้เป็น 6 ขั้นตอน ดังนี้
                1.1 ความรู้ความจำ (Knowledge) เป็นความสามารถในการจดจำ หรือระลึกถึงสิ่งของ เรื่องราว กระบวนการ หรือหลักการต่าง ๆ ตามเนื้อหาที่ได้เรียนรู้หรือได้มีประสบการณ์ไปแล้ว
1.2 ความเข้าใจ (Comprehension) เป็นความสามารถในการแปลความหมาย ตีความหมาย หรือขยายความข้อมูลข่าวสาร แนวคิดในรูปแบบอื่น แล้วสรุปความด้วยคำพูดตนเอง หรือสรุปแนวโน้มจากข่าวที่ได้รับ
1.3 การนำไปใช้ (Application) เป็นความสามารถในการเลือกใช้กฎ หลักการ หรือกระบวนการที่เหมาะสม สำหรับแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในสถานการณ์ใหม่
1.4 การวิเคราะห์ (Analysis) เป็นความสามารถในการแยกแยะส่วนประกอบ ความสัมพันธ์ หลักการ แยกออกจากกันเป็นส่วนประกอบย่อย ๆ จนเห็นลำดับขั้นของความสัมพันธ์ระหว่างส่วนประกอบย่อย ๆ นั้น อย่างชัดเจน
1.5 การสังเคราะห์ (Synthesis) เป็นความสามารถในการจัดการรวมส่วนประกอบย่อย ๆ ข้อความ แผนงาน หรือหลักการ เข้าด้วยกันเป็นรูปแบบโครงสร้าง หรือแนวคิดใหม่ที่มีความหมาย หรือความสำคัญแบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
1.6 การประเมินผล (Evaluation) เป็นความสามารถในการตัดสินคุณค่าของสิ่งของ กระบวนการ ผลผลิต หรือแนวคิด โดยใช้หลักการแห่งเหตุผลภายใน หรือพัฒนาเกณฑ์มาตรฐานจากภายนอกมาใช้ตัดสิน

                2.ด้านทักษะพิสัย (Psychomotor Domain) เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกี่ยวข้องกับทักษะ เป็นการประสานระหว่างสมองกับกล้ามเนื้อ ที่เน้นความถูกต้องคล่องแคล่ว รวดเร็ว ถูกต้อง และชำนาญ ทั้งในด้านการพูด การเขียน การอ่าน ตลอดจนการใช้เครื่องมือต่าง ๆ เป็นต้น ระดับการเรียนรู้ทางด้านทักษะมี 7 ระดับ คือ

2.1 การรับรู้ของระบบประสาทและกล้ามเนื้อ (Perception) เป็นการใช้ระบบประสาททั้ง 5 ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น และผิวกาย ในการรับรู้และแปลความหมายสิ่งที่ได้ประสบ แล้วสร้างความสัมพันธ์กันเพื่อนำไปปฏิบัติกิจกรรมนั้น ๆ
2.2 ความพร้อมในการปฏิบัติ (Set) เป็นการเตรียมความพร้อมทางด้านสมอง อารมณ์ และร่างกายที่จะปฏิบัติกิจกรรมนั้น ๆ
2.3 การปฏิบัติตามข้อแนะนำ (Guided Response) เป็นการลงมือปฏิบัติการเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ด้วยการเลียนแบบ และการลองผิดลองถูก
2.4 การปฏิบัติจนเป็นนิสัย (Mechanism) เป็นการปฏิบัติตามลำดับขั้นได้อย่างต่อเนื่องด้วยความมั่นใจ จนเกิดความเคยชิน
2.5 การปฏิบัติที่ซับซ้อน (Complex Overt Response) เป็นการปฏิบัติกิจกรรมที่สลับซับซ้อนขึ้น โดยไม่ต้องใช้ความคิดมากนัก และกระทำได้อย่างคล่องแคล่วชำนาญ
2.6 การปรับเปลี่ยนปฏิบัติการ (Adaptation) เป็นการปรับเปลี่ยน หรือพลิกแพลงการปฏิบัติให้เข้ากับสถานการณ์ได้อย่างเหมาะสม
2.7 การสร้างปฏิบัติการใหม่ (Orination) เป็นการสร้างปฏิบัติขึ้นมาใหม่ด้วยตนเอง โดยการปรับปรุงจากประสบการณ์ที่เคยทำมา

3.ด้านจิตพิสัย (Affective Domain) เป็นการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับการรับการใส่ใจ ความตั้งใจ ความพอใจ ความรู้สึกเห็นในคุณค่า เห็นความแตกต่างของค่านิยม และเข้าถึงค่านิยมเป็นส่วนหนึ่งของปรัชญาในการดำรงชีวิต ด้วยการเห็นคุณค่าของคุณธรรมจริยธรรม ซึ่งมี 5 ระดับ ดังนี้

3.1 การรับรู้ (Receive) คือการที่บุคคลถูกกระตุ้นให้รับรู้ต่อสิ่งเร้า หรือปรากฏการณ์บางอย่างที่อยู่รอบตัว ทำให้เกิดความตระหนัก ความตั้งใจ ที่จะรับรู้ และให้ความสนใจต่อสิ่งเร้านั้น
3.2 การตอบสนอง (Respond) เมื่อบุคคลได้รับการกระตุ้นจากสิ่งเร้า จนเกิดความสนใจอย่างเต็มที่ บุคคลจึงเกิดการยอมรับ หรือเต็มใจที่จะตอบสนอง และสร้างความพึงพอใจจากการตอบสนองต่อสิ่งเร้านั้น
3.3 การเห็นคุณค่า (Value) การที่บุคคลมีความเชื่อว่าสิ่งนั้นมีคุณค่าสำหรับตน แสดงความรู้สึกชอบสิ่งนั้นมากกว่าสิ่งอื่น และสร้างความผูกพันที่จะอุทิศตนเพื่อค่านิยมนั้น
3.4 การจัดระบบค่านิยม (Oganize or Conceptualize Value) เมื่อบุคคลยอมรับ และเห็นคุณค่าของค่านิยมนั้นแล้ว บุคคลจะรวบรวมค่านิยมต่าง ๆ ที่สัมพันธ์กันให้อยู่ในหมวดหมู่เดียวกัน อาจทำการเปรียบเทียบจัดลำดับความสำคัญของค่านิยม พร้อมทั้งกำหนดแนวทางของพฤติกรรม หรือการแสดงออก
3.5 การแสดงออกตามค่านิยม (Intermalize or Charecterize Value) การที่บุคคลนำระบบค่านิยมที่สร้างขึ้นมาผสมผสานเป็นส่วนหนึ่งของบุคลิกภาพ และปรัชญาชีวิต ค่านิยมนั้นจึงเป็นแรงขับภายในที่กระตุ้นให้บุคคลแสดงออกทางพฤติกรรมตามค่านิยมนั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น